เทคนิคการทำโปรแกรมขาย

วันนี้ผมแค่อยากเขียนบทความเล็กๆ น้อยๆ ไว้อ่าน ในวันหนึ่งที่มองย้อนกลับมา นี่อาจเป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างการเดินทางของผม จากก้าวเล็กๆ ของผู้ชายธรรมดา ที่ไม่มีอะไร
 
การที่จะทำโปรแกรมขายนั้น เทคนิค ไม่มีอะไรมาก ผมไม่เคยได้อ่านตำรา หรือเข้าคอร์สอะไรกับใครทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดผมเรียนรู้จากสนามจริง เจ็บจริง ลองผิด ลองถูก ทดสอบวิธีการต่างๆ มากมาย ล้มก็หลายครั้ง ในที่สุดก็ทำให้ค้นพบ ข้อเท็จจริงที่จะนำมาสรุปจากประสบการณ์เขียนโปรแกรมขายของผม ทั้งหมดกว่า 12 ปี
 
นี่ไม่ใช่การโอ้อวด แต่เป็นเพียงแค่การบอกเล่า ผ่านคนธรรมดา ที่เลี้ยงชีพด้วยการขายโปรแกรม ที่ตัวเองสร้าง อย่างน้อยผมก็อยู่แบบนี้มาได้ 7 ปีแล้ว โดยไม่ต้องทำงานประจำ รับเงินเดือนจากใคร และก็มีรายได้ต่อปี มากพอที่จะซื้อสิ่งต่างๆ ที่อยากได้ พร้อมกับเลี้ยงครอบครัวไม่ให้อดอยากได้
สรุปเทคนิคการเขียนโปรแกรมขาย ออกเป็นหัวข้อหลักๆ 3 ข้อดังนี้นะครับ (เผื่อใครอยากทำ ก็ลองนำไปใช้ดู)
 
1. สร้างโปรแกรม ที่ผู้คนรู้จักอยู่แล้ว
ไม่ต้องไปคิดสร้างสิ่งใหม่ เพราะของใหม่ตีตลาดนาน คนไม่รู้จัก ต้องทำให้พวกเขาเข้าใจ กว่าจะถึงตรงนั้น ถ้าเงินไม่หนาพอคุณก็กินแกลบตายก่อน เช่น สร้างระบบบัญชี ระบบเงินเดือน ระบบคลินิค ระบบคาแคร์ ระบบร้านอาหาร ระบบร้านค้าปลีก ระบบสต้อกสินค้า เป็นต้น
เพราะของพวกนี้มีฐานลูกค้าอยู่มากมาย พวกเขารู้จักได้ทันทีว่าสิ่งที่เราขาย คืออะไร ผมไม่ได้บอกว่า การสร้างสิ่งใหม่ๆ มันไม่ดี มันดีครับ แต่ต้องดูเงินในกระเป๋าเราด้วย ไม่งั้นจะได้ตายก่อนตายจริง ไว้เงินหนาพอ ค่อยคิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกๆ ใหม่ ให้คนรู้จัก
 
2. อย่าทิ้งลูกค้า
นี่ก็อีกเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะคนที่ซื้อโปรแกรมไปแล้ว เขาต้องพบปัญหาหลายอย่าง เช่น ใช้ไม่เป็น โปรแกรมมีปัญหา ค้าง เออเรอ บั้ก หรือแม้กระทั่งอยากได้โน่นนี่ เพิ่มเติม ให้ตรงกับงานที่เขาทำอยู่ ซึ่งลูกค้าแต่ละราย มีรายละเอียดในเนื้องาน ที่ต่างกันไป ดังนั้นเราต้องรับฟังแล้วนำมาพัฒนาใส่ในโปรแกรมเรา เพื่อตอบสนองการใช้งานจริงๆ ของเขาให้ได้
 
หลายคนมองว่า เขาซื้อไปแล้ว หมดประโยชน์กันแล้วจะไปสนใจทำไม ผมบอกเลยว่า เป็นความคิดที่ผิดมากๆ จริงอยู่ว่าเราอาจไม่ได้เงินกับเขาอีกแล้ว แต่ หากมองให้ดี ถ้าเราบริการดี ช่วยเหลือเขาตลอด และโปรแกรมถูกใจ มีหรือที่เขาจะไม่บอกต่อ คนเราก็ต้องมีเพื่อนจริงไหมล่ะครับ ลูกค้าของเราเขาก็มีเพื่อน และแน่นอน เขาก็จะบอกเล่าให้เพื่อนๆ เขาฟัง สุดท้าย คนที่ได้ผลประโยชน์คือเรา
ดียิ่งกว่าดี ที่มีคนทำการตลาดให้ โดยที่เราไม่ต้องจ่ายเงินเดือนให้เลยสักบาท และที่สำคัญ พลังการบอกจากปาก คนรู้จัก มันน่าเชื่อถือการโปรโมต โฆษณาโครมๆ อีกนะ จะบอกให้
 
3. สร้างจุดแข็งให้กับสินค้า ชนิดที่ คู่แข่งน้อยรายจะทำได้แบบเรา
เรื่องนี้ก็สำคัญไม่ใช่เล่น การค้นหาจุดแข็งของโปรแกรมอาจจะยาก แต่การสร้างจุดแข็งนั้น ยากยิ่งกว่า อย่างโปรแกรมผม จุดแข็งก็คือ ซื้อทีเดียวจ่าย 950 บาท (ถูกมาก ราคาเท่าตั๋วหนังไม่กี่ใบเอง) อัพเกรตฟรี ตลอดชีพ ใช้ได้ตลอดชีพ ลงได้ไม่จำกัดเครื่อง ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มอีก และที่เด็ดสุดคือ อยากได้อะไรแจ้งมา รับเรื่องไว้ แล้วเราจะทำเพิ่มเติมให้ อัพเกรตกันในเวอร์ชั่นต่อไป โดยที่ ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรอีกเลย
 
อ้อ แถมยังซับพอร์ทตลอดชีพอีกด้วยนะ
 
ทุกอย่างต้องมีจุดแข็ง และจุดขายในตัว ให้ลูกค้าเห็นแล้วต้องไม่สามารถละสายตา ออกจากโปรแกรมเราได้ และไม่ไปมองหาโปรแกรมของเจ้าไหนอีกเลย
 
แน่นอนครับ ตรงนี้ คุณต้องค้นหาด้วยตัวเอง อย่างผมเห็นระบบเจ้านึงขายแพงนะ ราคาเป็นแสน แต่ทำไมเขาขายได้ จุดแข็งเขาก็คือ ระบบมันคลอบคลุมมาก มีทีมเจ้าหน้าที่บริการติดตั้งให้ และดูแลข้อมูล พร้อมมีการเข้าไป เมนเทอแนนท์ระบบตลอดทุกๆ 3 เดือน บริการหลังการขายเป็นเลิศ รับประกันการใช้งานตลอดระยะเวลา 10 ปี แถมติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน ไม่มีวันหยุดตลอดทั้งปี
ถามว่า ระบบแบบนี้ ใครจะไม่ซื้อจริงไหมครับ โดยเฉพาะกิจการที่ต้องการ Service หลังการขาย ที่เร่งด่วน ทันใจ และเป็นระบบ
 
เอาล่ะครับ ถึงตรงนี้แล้ว ทั้งหมดที่ผมเขียนมานั้น ก็อาจมีบางข้อที่ยังคงใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย บางข้อก็อาจใช้ได้แค่กับช่วงเวลานี้เท่านั้น ทุกอย่าง ต้องพลิกผันไปตามเวลา ใช่ว่าต้องยึดติดวิธีการใดๆ เสมอ เพราะไม่งั้น คนเราก็รวยกันทั้งโลกไปแล้ว หากว่าวิธีการเดียวกัน มันได้ผลแบบเดียวกัน จริงไหมครับ
ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม สำคัญคือมุ่งมั่น อย่ายอมแพ้ และจงเดินต่อไป ถึงแม้มองไม่เห็นทางข้างหน้าเลยก็ตาม ตราบที่ยังมีเงินกินข้าว มีลมหายใจ ร่างกายยังใช้งานได้ ก็อย่าเพิ่งทิ้งความฝันครับ ผมก็แค่คนธรรมดา ไม่ได้รวยร้อยล้าน พันล้านอะไร แต่ก็แอบเชื่อในใจลึกๆ นะ ว่าสักวัน ผมจะไปยืนตรงนั้น
ไว้พบกัน ในบทความต่อไปครับ 
 
ถาวร ศรีเสนพิลา
กรรมการผู้จัดการ บริษัท control c จำกัด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรื่องราวชีวิตของ ถาวร ศรีเสนพิลา

นักสู้ต้นแบบของผม